ไทยพลัสนิวส์ ขอเสนอ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค
ไทยพลัสนิวส์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค ซึ่ง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทำให้ข้าวไรซ์เบอร์รี่มีสีม่วงเข้ม กลิ่นหอม และมีรสหวาน ทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารและใยอาหารสูงที่ดีต่อสุขภาพลำไส้และระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้
คุณค่าทางโภชนาการของข้าวไรซ์เบอร์รี่
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 390 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น
- คาร์โบไฮเดรต 80 กรัม
- ไฟเบอร์ 4 กรัม
- โปรตีน 8 กรัม
- วิตามินอี 0.68 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ ธาตุเหล็ก สังกะสี โซเดียม โอเมก้า 3 โฟเลต (Folate) เบต้าแคโรทีน โพลีฟีนอล (Polyphenol) แทนนิน (Tannin)
ประโยชน์ของข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีต่อสุขภาพ
ข้าวไรซ์เบอร์รี่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของข้าวไรซ์เบอร์รี่ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยป้องกันโรคเมตาบอลิซึม
โรคเมตาบอลิซึม (Metabolic Syndrome) คือ ภาวะผิดปกติของระบบเผาผลาญในร่างกายที่อาจเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอ้วน ซึ่งข้าวไรซ์เบอร์รี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดโดยเฉพาะแอนโธไซยานิน (Anthocyanins) อาจมีส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคเมตาบอลิซึมได้
โดยมีบทความวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ อาหารเสริมและสุดยอดอาหารต้านอนุมูลอิสระของประเทศไทย พบว่า การทดลองเสริมข้าวไรซ์เบอร์รี่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดสูง ลดภาวะเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidative Stress) และการอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากอนุมูลอิสระทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย จนทำให้เกิดความผิดปกติของดีเอนเอและอาจก่อให้เกิดโรคได้
นอกจากนี้ การเสริมน้ำมันรำข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น แกรมสเตอร์รอล (Gramisterol) แกมมาโอรีซานอล (Gamma Oryzanol) วิตามินอี เบต้าแคโรทีน ลูทีน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ยังช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) และลดระดับไขมันไม่ดี (LDL) ซึ่งอาจช่วยปรับปรุงการทำงานของเมตาบอลิซึมที่ทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอ้วนได้ ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของข้าวไรซ์เบอร์รี่ในการป้องกันโรคเมตาบอลิซึม
อาจช่วยป้องกันมะเร็ง
ข้าวไรซ์เบอร์รี่อุดมไปด้วยสารประกอบหลายชนิด เช่น ไดคลอโรมีเทน (Dichloromethane) เมทานอล (Methanol) เบต้าแคโรทีน ลูทีน (Lutein) โพลีนอล (Polyphenols) แทนนิน (Tannin) คาเทชิน (Catechin) ที่อาจมีคุณสมบัติต้านการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง และอาจกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็ง จึงอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคมะเร็งได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Chemistry เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเคมีของรำข้าวที่สกัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ พบว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่มีสารประกอบไดคลอโรมีเทน เมทานอล และแอนโธไซยานินที่อาจมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง โดยต้านการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งและกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งได้
ข้อควรระวังในการบริโภคข้าวไรซ์เบอร์รี่
ข้าวไรซ์เบอร์รี่อุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพจึงปลอดภัยที่จะรับประทานในทุกเพศทุกวัย รวมทั้งผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม ข้าวไรซ์เบอร์รี่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตประเภทแป้ง เมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้น แม้ว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่จะมีน้ำตาลน้อยและใยอาหารสูงกว่าข้าวขาว แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อสุขภาพที่ดี โดยปริมาณที่แนะนำของข้าวไรซ์เบอร์รี่ คือ ประมาณ 7-8 ทัพพี/วัน แต่อาจลดลง 2 ทัพพี หากรับประทานร่วมกับอาหารประเภทแป้งชนิดอื่น เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง พาสต้า แซนวิช
อ้างอิงจาก hellokhunmor
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น