ไทยพลัสนิวส์ ขอเสนอ ประโยชน์จากเต้าหู้
ไทยพลัสนิวส์ ขอเสนอ ประโยชน์จากเต้าหู้ โดยน้ำเต้าหู้ หรือ นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มคู่ใจมนุษย์ออฟฟิศที่ดื่มน้ำเต้าหู้คู่กับปาท่องโก๋ หรือใส่เครื่องเคียง อาทิ แมงลัก สาคู ลูกเดือย ข้าวบาร์เลย์ ถั่วแดง วุ้น หรือธัญพืชชนิดอื่น ๆ ตามชอบ แถมยังดีต่อสุขภาพ หรือจะนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูทั้งไทยและเมนูต่างประเทศเลยทีเดียว
เต้าหู้ทำมาจากอะไร
เต้าหู้เป็นอาหารที่ทำมาจากน้ำเต้าหู้ โดยรวมตัวกันเป็นลิ่ม แล้วกดให้เป็นก้อนสีขาว โดยเต้าหู้มีโปรตีนที่มากกว่าเนื้อสัตว์บางชนิดถึงสองเท่าในปริมาณที่เท่ากัน โดยข้อมูลด้านโภชนาการของเต้าหู้ประกอบด้วยโปรตีนร้อยละ 7.4 ไขมันร้อยละ 3.1 น้ำตาลร้อยละ 2.7 โดยเต้าหู้ทุก 100 กรัม จะมีแคลเซียม 277 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 57 มิลลิกรัม เหล็ก 2.1 มิลลิกรัม
คุณประโยชน์ของเต้าหู้
1.มีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูก
ถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ที่มีผลต่อกระบวนการสร้างหรือสลายกระดูกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และนมถั่วเหลืองช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดี และช่วยลดกระบวนการสลายกระดูก นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกได้อีกด้วย
2.ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลินในเลือด
การบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองก่อนมื้ออาหาร 30 นาทีเป็นประจำ จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งวิธีการนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานจากการบริโภคอาหารที่มีค่า GI สูง (Glycemic Index: ค่าดัชนีน้ำตาล)
3.ลดความอ้วน ลดน้ำหนัก และไขมัน
ถั่วเหลืองและอาหารเสริมแคลเซียมมีผลต่อการลดไขมันในผู้หญิงก่อนวัยทองที่มีภาวะอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน โดยมีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในเลือดและลดการเกิดปฏิกิริยาที่สารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูง โดยเครื่องดื่มที่ทำมาจากถั่วเหลือง มีสารแพลนท์ สเตอรอล (Plant Sterol) ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดเลว (non-HDL และ LDL)
4.ลดความดันโลหิต
เครื่องดื่มที่ทำมาจากถั่วเหลือง ให้คุณค่าทางโภชนาการและส่งผลต่อการลดน้ำหนัก โดยช่วยลดความดันโลหิตซิสโตลิก (Systolic blood pressure) และไดแอสโตลิก (Diastolic blood pressure) ลงได้ ซึ่งเป็นความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัว
5.แบคทีเรียในลำไส้
นมเปรี้ยวที่เป็นนมถั่วเหลืองหมักมีอิทธิพลต่อแบคทีเรียในลำไส้เล็ก โดยช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้เล็ก (Probiotics) ซึ่งเป็นผลดีต่อลำไส้และระบบย่อยอาหาร
6.ภาวะเครียดออกซิเดชันจากสารอนุมูลอิสระ
ผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) คือภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติไป ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันสูง ซึ่งต่อมาภาวะเหล่านี้จะส่งผลให้มีปัญหาต่อหลอดเลือดและหัวใจ บริโภคโปรตีนถั่วเหลืองในปริมาณ 25 กรัม ทุกวัน เป็นเวลา 90 วัน โดยไม่พบผลข้างเคียงในการทดลองนี้ และยังเป็นประโยชน์ในทางรักษา คือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดสารอนุมูลอิสระ และเพิ่มไขมันดี (HDL) ในผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอลิกอีกด้วย
แต่ที่น่าสนใจคือ โปรตีนในถั่วเหลืองประกอบด้วยกรดอะมิโน (Amino Acid) ที่จำเป็น 8 ชนิด ซึ่งร่ายกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ต้องได้รับจากอาหารภายนอก และเต้าหู้นั้น ร่างกายสามารถย่อยสลายได้สูงถึงร้อยละ 92-96 เต้าหู้จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันและระบบการย่อยไม่ดี รวมทั้งเด็กเล็กที่ฟันยังงอกไม่สมบูรณ์ แถมมีสารเลซิติน (Lecithin) ซึ่งมีผลในการลดไขมัน ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวกับความทรงจำ ป้องกันเกล็ดเลือดแข็งตัว และฮอร์โมนจากพืช คือ ไฟโตเอสโทรเจน ที่ช่วยป้องกันมะเร็งและดีต่อผู้หญิงวัยทอง ช่วยชะลอภาวะหมดประจำเดือน และลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
แม้ว่าจะมีประโยชน์แต่ก็อาจมีโทษอย่างอาการแพ้ได้เช่นกัน
ถึงแม้ว่าถั่วเหลืองจะดีต่อสุขภาพ แต่สำหรับบางคนก็สามารถเกิดการแพ้ต่อถั่วเหลืองได้ โดยต้องระวังเพราะสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยอาการแพ้ถั่วเหลืองแบ่งออกเป็นดังนี้
- อาการแพ้ที่พบได้ทั่วไป ผู้ที่มีอาการแพ้จะรู้สึกเหน็บชาหรือคันรอบปาก มีอาการบวมตามร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้าและลำคอ ผิวหนังเป็นผื่นหรือกลายเป็นสีแดง ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงอาจมีอาการหายใจลำบาก มีน้ำมูก หายใจมีเสียงหวีด แม้ว่าอาการแพ้เหล่านี้สามารถพบได้ทั่วไป แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ทุเลาควรรีบไปพบแพทย์
- อาการแพ้ชนิดรุนแรง การแพ้อย่างรุนแรงเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ยาก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหืดหรือมีอาการแพ้อาหารชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย หากปรากฏอาการหรือมีสัญญาณของ Anaphylaxis เช่น คอบวมจนหายใจไม่ออก หัวใจเต้นรัวหรือช้าผิดปกติ เวียนศีรษะ หมดสติ หรืออาการช็อก ควรรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
สาเหตุของการแพ้ถั่วเหลือง
อาการแพ้ถั่วเหลืองนั้นอาจเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ ได้แก่ การตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันและการทำงานของกระเพาะอาหาร ซึ่งการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันนั้นเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารบางอย่างในถั่วเหลืองรุนแรงมากกว่าปกติ จึงกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดี (Antibody) ที่มีหน้าที่ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย โดยแทนที่แอนติบอดีจะไปกำจัดสิ่งแปลกปลอมกลับมาทำร้ายเซลล์ร่างกายแทน ส่วนอาการแพ้ที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของกระเพาะอาหารนั้น จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วงหลังจากการรับประทาน
การวินิจฉัยการแพ้ถั่วเหลือง
ในขั้นแรกแพทย์อาจสอบถามอาการและตรวจร่างกาย โดยในขั้นต่อไปแพทย์อาจตรวจสอบด้วยวิธี ดังนี้
· ทดสอบการแพ้อาหาร
การทดสอบรูปแบบนี้เป็นการทดสอบด้วยการรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ วิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
· ตรวจเลือด
การตรวจเลือดเป็นการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปริมาณสารต้านภูมิแพ้หรือแอนติบอดี (Antibody)
· ทดสอบทางผิวหนัง
การทดสอบทางผิวหนังแบ่งได้เป็น 2 วิธี วิธีแรกเป็นการใช้เข็มสะกิดผิวหนังและหยอดสารที่คาดว่าจะก่ออาการแพ้ลงไปเพื่อดูการตอบสนองของผิวหนัง และวิธีที่สองใช้สารก่อภูมิแพ้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังและรอดูอาการ แต่อาจใช้สารก่อภูมิแพ้ในปริมาณที่มากกว่า
อาการแพ้ถั่วที่พบในทารกและในเด็กเล็กอาจหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่บางรายอาการเหล่านี้อาจยังคงอยู่และอาจไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาจึงเน้นไปที่การบรรเทาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ และหากกังวลเกี่ยวกับอาการแพ้ขั้นรุนแรง ควรไปปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจจ่ายยายาเอพิเนฟรีนในรูปแบบปากกาฉีดยาสำหรับพกพา สำหรับใช้เมื่อเกิดอาการที่อาจนำไปสู่ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งต้องได้รับการสอนวิธีการฉีดจากแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น หลังจากฉีดยาควรพาผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลทันที
นอกจากการรับประทานเต้าหู้เป็นกับข้าวแล้วเรายังสามารถนำเต้าหู้มาทำเมนูสลัดสุดแสนอร่อยอย่างเมนูสลัดแตงกวา ที่สามารถรับประทานได้บ่อย ๆ โดยเมนูนี้ ผู้ที่เป็นมังสวิรัติหรือผู้ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ก็สามารถทานได้ โดยที่ได้ประโยชน์จากเต้าหู้ ที่มีโปรตีนจากถั่วเหลืองเน้น ๆ บวกกับแตงกวา ที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ แถมยังแคลอรีน้อยด้วย ถือว่าเป็นเมนูที่น่าสนใจมาก ๆ
วัตถุดิบ
เต้าหู้ขาว แบบแข็ง 450 กรัม
กระเทียมขูด 1 กลีบ
ขิงสดขูดละเอียด 2 ช้อนชา
ต้นหอมสับ 1 ช้อนชา
ลูกจันทน์เทศขูด ¼ ช้อนชา
น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิน (สำหรับทำสลัด) 1 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนชา
แตงกวาดองสไลด์บาง 1 ลูก
พริกซอยบาง 1 เม็ด
น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำส้มสายชู1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำสลัดแตงกวา
1.หั่นเต้าหู้เป็น 8 ส่วน ซับน้ำให้แห้ง
2.คลุกกระเทียม ขิง ต้นหอม ลูกจันทน์เทศ น้ำมันมะกอก และซีอิ๊วขาวให้เข้ากันในถ้วยเล็ก
3.นำน้ำซอสที่เตรียมไว้ ทาไปที่เต้าหู้ให้ทั่ว หมักไว้ 10 นาที
4.ตั้งไฟกลาง ใส่น้ำมันลงกระทะนิดหน่อย แล้วนำเต้าหู้ลงไปย่าง ใช้เวลา 7- 8 นาที หรือจนกว่าสีสันจะดูน่าทาน
5.นำน้ำส้มสายชูใส่ลงไปในถ้วยซอส เพื่อทำน้ำสลัด
6.จัดจานให้สวยงาม โดยวางเต้าหู้ย่างบนแตงกวา แล้วนำน้ำสลัดมาราด เป็นอันเสร็จสิ้น
ข้อมูลทางโภชนาการ
แคลอรี: 164
ไขมัน: 9 g
ไขมันอิ่มตัว: 2 g
โปรตีน: 14 g
คาร์โบไฮเดรต: 8 g
ไฟเบอร์: 1 g
น้ำตาล: 2 g
โคเลสเตอรอล: 0 mg
โซเดียม: 159 mg
เป็นยังไงกันบ้าง กับเมนูนี้ น่าทานใช่มั้ย ซึ่งทำได้ไม่ยากเลย เพราะว่าเครื่องปรุงบางชนิดก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบหรือตามความต้องการ ซึ่งมีประโยชน์มาก ๆ จากโปรตีนที่ได้จากเต้าหู้ ถือว่าเป็นสุดยอดเมนูเลยทีเดียว
อ้างอิงจาก krungthai
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น