ไทยพลัสนิวส์ 6 พฤติกรรม เสี่ยง “ฟันสึกกร่อน-เสียวฟัน”
ไทยพลัสนิวส์ “ฟันสึกกร่อน-เสียวฟัน” ตอนเด็กๆ เราอาจไม่ค่อยใส่ใจกับสุขภาพฟันกันสักเท่าไร จนทำให้หลายคนฟันผุกันตั้งแต่อายุยังไม่ขึ้น 2 หลัก แต่มันก็แค่ฟันน้ำนม หลุดไปก็มีฟันใหม่แข็งแรงกว่าเดิมผุดขึ้นมา แต่เมื่อโตแล้ว ฟันไม่มีผลัดเปลี่ยนชีวิตกันอีก พังแล้วพังเลย การดูแลฟันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่าที่คุณคิดมาก เพราะหากฟันมีปัญหาแล้ว นอกจากเราจะหมดอร่อยกับอาหารตรงหน้าได้ง่ายๆ แล้ว ค่ารักษาฟันอาจทำให้คุณกุมขมับไปหลายวันเลยล่ะ
อาการฟันสึกกร่อน และเสียวฟัน เป็นอีกหนึ่งอาการที่ถึงแม้จะมีความเจ็บปวดทรมานน้อยกว่าฟันผุ หรือโรคทางช่องปากอื่นๆ แต่ก็สร้างความลำบากในการทานอาหารของเราไม่น้อยเหมือนกัน
ฟันสึกกร่อน คืออะไร?
ฟันสึก หรือฟันกร่อน เป็นอาการที่ส่วนของฟิวหน้าที่เคลือบฟันอยู่ด้านนอกหลุดลอกหายไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะฟัน เช่น ฟันลึกเป็นหลุม จนเศษอาหารเข้าไปติดได้ง่ายๆ ก่อให้เกิดอาการฟันผุได้หากไม่ดูแลความสะอาดให้ดีพอ หรือหากผิวเคลือบฟันสึกกร่อนมากขึ้นจนถึงเนื้อฟัน อาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันขึ้นได้ โดยจะสร้างความเจ็บปวดแบบเสียวแปล๊บ เสียวจิ๊ดๆ เมื่อทานอาหารเย็นจัด ร้อนจัด หรือเคี้ยวอาหารที่มีความเหนียวหรือแข็ง
ฟันซี่ไหน ที่มักมีอาการสึก กร่อน เสียวฟัน?
ฟันที่ส่วนใหญ่จะสึก กร่อน หรือมีอาการเสียวฟัน สามารถเกิดขึ้นได้กับฟันทุกซี่ แต่ที่พบบ่อยจะเป็นฟันซี่หน้าสุดที่เป็นส่วนในการกัด ฉีกอาหาร ซึ่งมักจะถูกใช้งานโดยไม่ระมัดระวัง และฟันด้านที่ใช้เคี้ยวอาหารทั้งหมด เพราะมีการสัมผัส ถูกันไปมาอย่างรุนแรงกับอาหาร และกับฟันเคี้ยวบดด้วยกันเองเสมอๆ
พฤติกรรมเสี่ยง ฟันสึกกร่อน เสียวฟัน
ทานอาหารรสเปรี้ยว
หากชอบทานอาหารรสเปรี้ยว ส้ม มะนาว มะม่วงเปรี้ยว มะดัน มะขาม หรืออาหารหมักดองบ่อยๆ อาจเป็นการเร่งให้สารเคลือบฟันด้านนอกหลุดลอกได้ ลองสังเกตดูว่าหากระหว่างที่คุณทานมีอาการเข็ดฟัน เสียวฟันเบาๆ นั่นแสดงว่าสุขภาพฟันของุคณกำลังแย่ ยิ่งหันไปทานอาหารรสหวานจัด หรือมีความเย็นจัดต่อเลยทันที จะยิ่งรับรู้ถึงความรู้สึกเสียวฟันได้มากขึ้น
ทานอาหารแข็ง และเหนียว
การใช้งานฟันที่อยู่ในส่วนของการเคี้ยวมากเกินไป เช่น การทานเนื้อย่างเหนียว เคี้ยวกระดูกอ่อนเป็นประจำ ก็เป็นการกระตุ้นให้สารเคลือบฟันหลุดลอกออกมาได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน
ดื่มน้ำอัดลม
นอกจากอาหารรสเปรี้ยวแล้ว ยังมีน้ำอัดลมที่สามารถกัดกร่อนผิวหน้าฟันให้หลุดลอกได้ แถมยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอาการฟันผุร่วมด้วยอีกต่างหาก
แปรงฟันแรงเกินไป / ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป
หากแปรงฟันแรงเกินไป นานเกินไป หรือใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป แทนที่ฟันจะสะอาดสมใจ อาจทำให้สารเคลือยฟันด้านนอกหลุดออกไปอย่างช้าๆ เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังอาจเป็นสาเหตุของอาการเหงือกร่น เป็นการเร่งให้เกิดอาการเสียวฟันมากยิ่งขึ้น
นอนกัดฟัน
การนอนกัดฟันกรอดๆ อย่างรุนแรง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้ฟันสึกกร่อนได้โดยไม่รู้ตัว
ว่ายน้ำเป็นประจำ
ข้อนี้อาจจะแปลกสักหน่อย แต่พบนักกีฬาว่ายน้ำที่มีอาการฟันสึกกร่อน เสียวฟัน จากการที่ฟันถูกกัดกร่อนจากน้ำในสระที่ผสมสารคลอรีน เพราะคลอรีนมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ จึงสามารถกัดกร่อนผิวเคลือบฟันชั้นนอกได้ หากมีการสัมผัสกันบ่อยๆ
หาหมอฟัน “ฟันสึกกร่อน-เสียวฟัน”
วิธีป้องกันฟันสึกกร่อน เสียวฟัน
หลีกเลียงการทานอาหารรสเปรี้ยวจัด ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ หรือหลังจากทานเสร็จควรรีบบ้วนปากด้วยน้ำเปล่า เพื่อไม่ให้กรดอ่อนๆ อยู่ที่ฟันนานจนเกินไป
หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีความเหนียว หรือแข็งมากเกินไป
เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่มกำลังดี ไม่แข็งจนเกินไป แปรงฟันไม่หนักมือมากจนเกินไป และแปรงฟันให้ถูกวิธี วิธีแปรงฟันคือ แปรงจากโคนฟันที่ติดกับเหงือกออกไปที่ปลายฟัน คือฟันบนแปรงจากบนลงล่าง ฟันล่างแปรงจากล่างขึ้นบน โดยใช้แรงกดแปรงเบาๆ
ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมในการป้องกันการเสียวฟัน
ไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด หรือเป็นกรดอ่อนๆ ควรบ้วนน้ำเปล่าทิ้งทันทีที่ทานอาหาร แต่ควรรออย่างน้อย 30 นาทีแล้วค่อนแปรงฟัน เพราะหากแปรงฟันทันทีจะทำให้สารเคลือบฟันหลุดได้ง่าย
หากมีปัญหานอนกัดฟัน ควรปรึกษาแพทย์
สวมอุปกรณ์ป้องกันฟันระหว่างว่ายน้ำ
ควรพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจเช็คสุขภาพฟันอยู่เสมอ
อ้างอิง : สำนักทันตสาธารณสุข
อ่านบทความเพิ่มเติม
ไทยพลัสนิวส์ 5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่ม กินคลีน กินไม่ถูกวิธี เสี่ยงร่างพังไม่รู้ตัว
ไทยพลัสนิวส์ โปรตีนเกษตร กินเยอะ ๆ อันตรายหรือไม่ ?
ไทยพลัสนิวส์ มังสวิรัติ กับวิธีกินแบบผิดๆ ทำร้ายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น