ประเพณีการแห่นก เป็นประเพณีพื้นเมืองอันเก่าแก่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยจัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อรับแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ และบางครั้งก็มีจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัต หรือที่เรียกว่า “มาโซยาวี” หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางศาสนาหรือประเพณีตามนักขัตฤกษ์แต่อย่างใด
ประเพณีการแห่นก
โดยมีตำนานที่เล่าถึงที่มาของประเพณีการแห่นกว่า เริ่มขึ้นที่ยาวอ (ชวา) รายอองค์หนึ่งมีโอรสธิดาหลายพระองค์ พระธิดาองค์สุดท้ายเป็นที่รักใคร่ของพระบิดาอย่างยิ่ง พระบิดาและข้าราชบริพารรักใคร่เอาใจ สรรหาสรรพสิ่งมาบำเรอเอาใจ รวมทั้งมีการจัดทำนกประดิษฐ์ตกแต่งสวยงาม แล้วมีการจัดขบวนแห่นกวนรอบพระที่นั่งทำให้พระธิดาพอพระทัยมาก จึงโปรดให้มีการแห่นกทุก ๗ วัน แต่ยังมีบางตำนานเล่าว่ารายอมีโอรสธิดาสี่พระองค์ องค์สุดท้องเป็นชาย มีพระสิริโฉมงดงาม ทั้งยังทรงปฏิภาณไหวพริบ ฉลาดเฉียบแหลมกว่าพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีทั้งหมด พระบิดาและพระมารดาจึงรักใคร่มากเป็นพิเศษ ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระโอรสประสงค์ รายอ จะทรงเสาะแสวงหามาให้เสมอ วันหนึ่งรายอเสด็จประพาสทรงเบ็ด พบชาวประมงกลุ่มหนึ่งและได้สดับฟังเรื่องนกประหลาดจากทะเล ซึ่งหัวหน้าชาวประมงเล่าถวายว่า นกนั้นผุดจากท้องทะเลมีขนาดใหญ่ ดวงตาโตแดงก่ำ มีงวง มีงา และเขี้ยว ประหลาดน่ากลัว แต่เมื่อนกนั้นบินขึ้นสู่อากาศกลับมีรูปร่างสีสันทั้งปีกและหางสวยงามกว่านกทั้งปวง ชาวประมงเหล่านั้นเชื่อว่า คงเป็นนกแห่งสวรรค์เป็นแน่ เมื่อรายอเสด็จกลับคืนสู่อิสตานา ได้ทรงเล่าเรื่องราวนี้แก่ปะไหมสุหรี และโอรสธิดาฟัง พระโอรสสุดท้องพอใจเรื่องนกมหัศจรรย์มาก จนรบเร้าให้รายอสร้างรูปนกจำลองขึ้น พระองค์จึงสั่งให้อำมาตย์ป่าวประกาศรับสมัครช่างผู้มีฝีมือมารับอาสาประดิษฐ์นก โดยจะปูนบำเหน็จรางวัลความดีความชอบให้ ต่อมามีช่างมารับอาสาประดิษฐ์นกตามคำบอกเล่าของชาวประมง จำนวน ๔ คน โดยใช้เวลาในการประดิษฐ์นกประมาณ ๑ เดือนก็แล้วเสร็จ ซึ่งนกทั้ง ๔ ตัวนั้นล้วนมีความสวยงามแตกต่างกัน โดยช่างคนที่ ๑ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปนกกาเฆาะซูรอหรือกากะสุระ ช่างคนที่ ๒ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปนกกรุดาหรือนกครุฑ (มีลักษณะคล้ายกับครุฑ) ช่างคนที่ ๓ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปนกบือเฆาะมาศหรือนกยูงทอง ส่วนช่างคนที่ ๔ ประดิษฐ์ออกมาเป็นรูปบุหรงซีงอหรือนกสิงห์ (มีรูปร่างคล้ายราชสีห์) ซึ่งแต่ละตัวมีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นที่พอใจของรายอยิ่งนัก ต่อมาข่าวก็ลืออกไปยังต่างถิ่นต่างเมือง ชาวบ้านต่างพากันมาชมความงามของนกทั้ง๔ ตัวด้วยความตื่นเต้น จากนั้นรายอก็จัดให้มีขบวนแห่นกทั้ง ๔ ตัวอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ซึ่งในขบวนแห่ประกอบด้วย ดนตรีพื้นเมืองบรรเลงและมีสตรีสาวสวยถือพานดอกไม้นานาชนิดและหลากหลายสีเข้าริ้วขบวน ซึ่งเรียกว่า บุหราซีเระ (เป็นบายศรีภาคใต้) แห่ไปรอบๆ เมืองเป็นที่ชื่นชมของชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง จากตำนานที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีการแห่นกของจังหวัดปัตตานีและจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้
ภาพประเพณีสมัยก่อน
สำหรับการจัดขบวนประเพณีการแห่นกต้องอาศัยกำลังคนและอุปกรณ์มากมาย ผู้มีฐานะมีบริวารเท่านั้นจึงจะจัดขบวนแห่ได้โดยสมบูรณ์ โดยจะมีองค์ประกอบของขบวนแห่ดังนี้
๑. เครื่องประโคมสำหรับประโคมดนตรีนำหน้าขบวนนก ประกอบด้วยคนเป่าปี่ชวา ๑ คน กลองแขก ๑ คู่ ใช้คนตีสองคน ฆ้องใหญ่ ๑ ใบ ใช้คนหามและคนตีฆ้องรวมสองคน ดนตรีจะบรรเลงนำหน้าขบวนนกไปจนถึงจุดหมายและบรรเลงในเวลาเเสดงสิละ รำกริช
๒. ขบวนบุหงาซีเระ (บายศรี) จัดเป็นขบวนที่สวยงามระรื่นตาผู้ชมขบวนหนึ่ง ผู้ทูนพานบายศรีต้องเป็นสตรีที่ได้รับการคัดเลือก เเต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีสันตามประเพณีท้องถิ่น
๓. ผู้ดูแลนก “ทวิรักขบาท” ใช้คน ๒ คน แต่งกายแบบนักรบมือถือกริชเดินนำหน้านกซึ่งคัดเลือกจากผู้ชำนาญการร่ายรำสิละ รำกริช รำหอก อันเป็นศิลปะการต่อสู้อย่างหนึ่งของชาวปัตตานีเมื่อขบวนแห่ไปถึงจุดหมาย
๔. ขบวนนก นกประดิษฐ์แต่ละตัวมีรูปร่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ วิจิตรตระการตา โน้มน้าวให้ระลึกถึงพญาครุฑในวรรณคดี นกหัสดีลิงค์ในนิยายปรัมปรา กำลังเลื่อนลอยลงมายืนอยู่บนคาน จำนวนคนหามมากน้อยแล้วแต่ขนาดน้ำหนักของนก แต่ละคนแต่งเครื่องแบบพลทหารถือหอกเป็นอาวุธ
๕. ขบวนพลกริช ขบวนพลหอก ผู้คนในขบวนแต่งกายอย่างนักรบสมัยโบราณถือหอก ถือกริช เดินตามหลังขบวน จำนวนทหารกริช ทหารหอกมีมากน้อยเพียงใดก็จัดให้ขบวนแห่นกดูแลน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น ประเพณีการแห่นก นับเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน และเป็นประเพณีที่ช่วยส่งเสริมในการอนุรักษ์ศิลปะดนตรีและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันงดงามและเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งปัจจุบันประเพณีการแห่นกยังคงมีให้พบเห็นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ประเพณีการแห่นก เป็นประเพณีการทางพื้นเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่นราธิวาส ซึ่งได้มีการกระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เป็นประเพณีนิยมที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา ไม่เป็นประเพณีตามนักขัตฤกษ์ แต่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาส เพื่อความสนุกรื่นเริง เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในศิลปะและอาจจัดขึ้นในการแสดงความคารวะ แสดงความจงรักภักดี แก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุนัต หรือที่เรียกว่า “มาโซยาวี” หรือจัดขึ้นเพื่อประกวดเป็นครั้งคราว นกที่นิยมทำขึ้นเพื่อการแห่มีเพียง ๔ ตัว คือ
๑. นกกาเฆาะซูรอหรือ นกกากะสุระ นกชนิดนี้ตามสันนิษฐานคือ “นกการเวก” เป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆการประดิษฐ์มักจะตบแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็น ๔ แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “นกทูนพลู” เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลู และมีการทำให้แปลกจากนกธรรมดา เพราะเป็นนกสวรรค์
๒. นกกรุดา หรือ นกครุฑ มีลักษณะคล้ายกับครุฑ เชื่อกันว่านกชนิดนี้มีอาถรรพ์ ผู้ทำมักเกิดอาเพศ มักเจ็บไข้ได้ป่วย ในปัจจุบันจึงไม่นิยมจัดทำนกชนิดนี้ ในขบวรแห่
๓. นกบือเฆาะมาศ หรือนกยูงทอง มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะวูรอ มีหงอน สวยงามเป็นพิเศษ ชาวไทยมุสลิมยกย่องนกยูงทองมาก และไม่ยอมบริโภคเนื้อ เพราะเป็นนกที่รักขน การประดิษฐ์ตกแต่งรูปนกพญายูงทองนั้น จึงมีการตกแต่งที่ประณีตถี่ถ้วนใช้เวลามาก
๔. นกบุหรงซีงอ หรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนก แต่ตัวเป็นราชสีห์ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม
ช่วงเวลาในการจัดประเพณีการแห่นก
ในการแห่นกนั้นได้มีการจัดขึ้น ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง หรือในโอกาสการต้อนรับแขกเมืองของชาวนราธิวาส และยังจัดในพิธีการเข้าสุหยัด
พิธีกรรมในการแห่นก
ประเพณีการแห่นกนั้น สันนิษฐานว่า จะมีพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การตั้งพิธีสวดมนต์ตามวิธีการทางไสยศาสตร์ เพื่อขับไล่หรือขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย ให้หมดสิ้นไปให้มีความสุข ความเจริญก้าวหน้า
สาระของประเพณีการแห่นก
ประเพณีการแห่นกนั้นนอกจากที่ให้ความสนุกสนานแล้ว ยังให้คติ ความเชื่อ ความรัก ความสามัคคี และความเชื่อในการยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ร่วมพิธีในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ และเป็นการอนุรักษ์ให้ประเพณีแห่นกยังคงอยู่สืบเนื่องต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น