เมื่อผ่านชัยบาดาลในจังหวัดลพบุรีเข้าสู่ที่ราบลุ่มของลุ่มป่าสักในเขตเพชรบูรณ์จะพบภูเขาที่มีฐานกว้างรูปทรงกรวยยอดแหลมและสูงที่สุดในละแวกใกล้เคียง วัดศรีถมอรัตน์ มองเห็นได้อย่างชัดเจนโดดเด่นและเป็นจุดสังเกตเด่นชัดทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำป่าสัก ชาวบ้านในละแวกนั้นเรียกว่า “เขาใหญ่” แต่มีชื่อเป็นทางการว่า “เขาถมอรัตน์” ซึ่งเป็นชื่อที่สืบค้นได้ว่าถูกเรียกมาไม่ต่ำกว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นภูเขาที่มีความสำคัญสืบย้อนจนพบว่าร่วมสมัยกับรัฐแรกเริ่มในลุ่มน้ำป่าสักที่ “เมืองศรีเทพ” อันเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่และสำคัญแห่งหนึ่งในดินแดนประเทศไทย
เขาถมอรัตน์ตั้งอยู่ชายขอบของพื้นที่สูงซึ่งเป็นที่ราบลอนลูกคลื่นซึ่งต่อเนื่องมาจากลุ่มลพบุรีอันมีลักษณะสำคัญของการใช้แหล่งน้ำที่มาจากตาน้ำใต้ดินที่ชาวบ้านเรียกว่า ซับ, ชอน หรือพุ รวมกับลำธารน้ำสายเล็ก ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ในยามหน้าฝน และต่อเนื่องกับแนวพื้นที่ราบลุ่มของลำน้ำป่าสัก ที่อยู่ทางทิศตะวันออก ดังนั้น จึงมีลำน้ำสายต่าง ๆ ไหลจากที่สูงทางชายขอบของเขาถมอรัตน์ลงสู่ลำน้ำป่าสักมากมาย บริเวณเมืองศรีเทพซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำป่าสักก็เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มและเป็นทางผ่านของสายน้ำต่าง ๆ ที่ไหลมาจากเทือกเขาทางฝั่งตะวันออกด้วย
เมื่อมองจากแกนกลางเมืองโบราณศรีเทพหันหน้าไปทางทิศตะวันตก จะเห็นเขาถมอรัตน์ในรูปทรงสามเหลี่ยมและเป็นเขาลูกโดดที่อยู่ในแกนเดียวกับปรางค์ศรีเทพได้อย่างถนัดชัดเจน ลักษณะเช่นนี้ทำให้รับรู้ว่า ลักษณะของผังเมืองและการสร้างปรางค์ศรีเทพมีความสัมพันธ์กับเขาถมอรัตน์ทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน ในข้อเท็จจริง ปริมณฑลของเมืองโบราณศรีเทพไม่ได้มีอาณาเขตอยู่แต่ภายในขอบเขตของคูน้ำคันดินเท่านั้น เพราะพบหลักฐานเช่นศาสนสถานและรูปเคารพกระจัดกระจายทั้งในบริเวณนอกเมืองและในเมือง ที่สำคัญก็คือ “ถ้ำบนยอดเขาถมอรัตน์” ที่ต้องข้ามลำน้ำป่าสักและห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตกราว ๑๒ กิโลเมตร ปรากฏการสลักรูปเคารพทางศาสนาจำนวนหนึ่ง
วัดศรีถมอรัตน์
ถ้ำหินปูนบนยอดเขา วัดศรีถมอรัตน์
ถ้ำหินปูนบนยอดเขาถมอรัตน์ มีการแกะสลักรูปเคารพที่ร่วมสมัยกับเมืองศรีเทพ บริเวณปากทางเข้าถ้ำจากแท่งหินธรรมชาติที่สูงจากพื้นจรดเพดานและสามารถเดินวนรอบได้ ชาวเมืองศรีเทพโบราณแกะสลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นรูปพระพุทธรูปยืนหน้าตรง แสดงปางวิตรรกะ ด้านขวาของพระพุทธรูปประธานสลักพระพุทธรูปยืนหน้าตรง ส่วนที่ติดกับพื้นถ้ำ มีการสลักฐานรูปดอกบัวขนาดใหญ่ ด้านซ้ายของพระพุทธรูปประธาน เป็นภาพกลุ่มภาพพระโพธิสัตว์สี่กร เข้าใจว่าน่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ศรีอาริยะเมตไตรย์ กลุ่มที่อยู่ด้านในสุด เป็นกลุ่มพระพุทธรูป ศูนย์กลางของกลุ่มเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ซ้ายมีเสาเหลี่ยมรองรับธรรมจักร ส่วนด้านขวามีสถูปจำลอง
ก่อนหน้าการเกิดขึ้นของเมืองศรีเทพ ในบริเวณลุ่มลพบุรี-ป่าสัก มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ค่อนข้างหนาแน่นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนการพัฒนาเป็นรัฐในสมัยทวารวดีเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ชุมชนในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลอนลูกคลื่นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตภาคกลาง มีลำน้ำลพบุรีและลำน้ำสาขาตลอดจนลำน้ำป่าสักและลำน้ำสายสั้นๆ มากมายไหลหล่อเลี้ยงสลับกับกลุ่มเทือกเขาและภูเขาที่มีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ทองแดง แร่ตะกั่ว และแร่เหล็ก อันเป็นพื้นฐานของความเจริญทางสังคมของผู้คนในยุคนั้น ทำให้เขตลุ่มลพบุรี-ป่าสักมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในเส้นทางคมนาคมรองรับการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่ห่างไกลทั้งในเขตดินแดนประเทศไทยและแหล่งอารยธรรมที่อยู่ห่างไกลออกไป
ชุมชนในบริเวณนี้เป็นกลุ่มสังคมที่มีพัฒนาการเข้าขั้นซับซ้อนในระดับหมู่บ้านขนาดใหญ่ ตั้งแต่เมื่อราว ๓,๕๐๐ ปีที่ผ่านมา และมีการติดต่อระหว่างชุมชนในเขตเดียวกันและชุมชนภายนอกที่ห่างไกล ดังเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบในหลุมฝังศพซึ่งมีรูปแบบร่วมสมัยกับที่พบในแถบเวียดนามหรือจีนตอนใต้ จนเมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนต่าง ๆ ในเขตนี้ทวีความหนาแน่นขึ้นจนน่าจะเริ่มมีการจัดระเบียบสังคมขนาดใหญ่ในระดับเมืองหรือรัฐแรกเริ่ม ก่อนที่จะมีการรับพุทธศาสนาและสร้างบูรณาการให้มีการนับถือศาสนา ภาษา และศิลปวิทยาการในรูปแบบเดียวกันจนกลายเป็นเมืองและนครรัฐในที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติม
กล่าวถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์นั้นเริ่มจากชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อครั้งโบราณน่าจะชื่อว่าเมือง “เพชบุระ” ตามที่ปรากฏในจารึกลานทองคำ ที่พบจากเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร แต่ในระยะหลังต่อมาแปรเปลี่ยนเป็น “เพชรบูรณ์”กลายความหมายเป็นเมืองที่อุดมด้วยเพชร และได้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ที่ตั้ง : ตำบล ภูน้ำหยด อำเภอศรีเทพ เพชรบูรณ์ 67180
อ้างอิง : https://lek-prapai.org/home/view.php?id=787
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น