ไทยพลัสนิวส์ ผู้หญิงยุคใหม่รายได้สูง ครองแชมป์กินเจมากที่สุด มังสวิรัติพร้อมทาน ยอดนิยมโต 7 เท่า
ไทยพลัสนิวส์ ผู้หญิงยุคใหม่รายได้สูง ข้อมูลจาก The 1 Insight ที่มีการคาดการณ์แนวโน้มการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจของปี 2566 โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากปี 2565 ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้ที่ใช้จ่ายในช่วงเทศกาลเจส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงถึง 76% อยู่ในช่วงวัยทำงาน (อายุ 25-55 ปี) สูงถึง 72% อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 65% เป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง (มีมูลค่าทรัพย์สินเฉลี่ยมากกว่า 2,000,000 บาท หรือรายได้ครัวเรือนมากกว่า 100,000 บาท) เป็นสัดส่วน 60% สะท้อนถึงอาหารเจที่มีราคาสูง และยังคงปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการผลิตอาหารเจ อาทิ ผักบางชนิด มีแนวโน้มจะขยับขึ้นจากสภาพอากาศแปรปรวนที่มีผลต่อปริมาณผลผลิตนั่นเอง
อาหารมังสวิรัติ-นมทางเลือก-Plant based เมนูยอดนิยม
ในส่วนของเทรนด์สินค้าดาวรุ่งในช่วงเทศกาลกินเจ เทรนด์สำคัญที่คนส่วนใหญ่มักเลือกคือ “อิ่มท้องต้องทันใด อิ่มใจต้องทันที” คนไทยนิยมบริโภคอาหารมังสวิรัติปรุงเสร็จพร้อมทาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหรือเบเกอรี โดยไม่ต้องปรุงอาหาร จึงเป็นประเภทสินค้าอาหารที่ได้รับความนิยมเติบโตสูงสุดในช่วงเทศกาลกินเจกว่า 7 เท่าในปี 2565
อินไซต์ดังกล่าวสะท้อนวิถีชีวิตเร่งด่วนของคนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วได้อย่างชัดเจน อีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจคือ “อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีรายได้สูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล” โดยมียอดขายเติบโต 2 เท่าในช่วงเทศกาลเจปี 2565 และมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปีถัดไป ไม่ว่าจะเป็น นมทางเลือก อาทิ นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต รวมถึง เนื้อ Plant based ชนิดต่างๆ โดยทั้งสองเทรนด์นี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในทิศทางใหม่ๆ ของพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจได้อย่างดี
นอกจากเทรนด์ใหม่ๆ ยังมีเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีแนวโน้มคล้ายคลึงกันในทุกๆ ปี อย่างเช่น กลุ่มสินค้าที่ผู้ถือศีลกินเจคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ได้แก่ น้ำมันพืช เต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรืออาจเรียกว่า “สินค้ายอดนิยมตลอดกาลช่วงเทศกาลเจ” มียอดขายเติบโตกว่า 25% ในช่วงเทศกาลเจปี 2565
เนื้อสัตว์หด ผักผลไม้ยอดขายพุ่ง
นอกจากนี้ผู้ถือศีลกินเจยังยึดหลักสำคัญ “เว้นอาหารต้องห้าม เน้นผักผลไม้มากขึ้น” ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลให้ยอดขายในกลุ่มผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 10% และยอดขายในกลุ่มเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม และแอลกอฮอล์ลดลง 5% ในช่วงเทศกาลกินเจปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเวลานอกเทศกาล
ทั้งหมดนี้จึงมีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะกลับมากินเจอย่างคึกคักในปี 2566 อาจเป็นผลมาจากทั้งเทรนด์สุขภาพที่คนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้นมา รวมถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภาพรวมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะยาว สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เทศกาลสั้นๆ เช่นนี้ อาจเป็นโอกาสดีในการทำแคมเปญกระตุ้นการขายโดยอาศัยความเข้าใจความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนออาหารเจพร้อมทานจากวัตถุดิบอาหารสุขภาพรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม เปิดโอกาสดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ ได้ใจในระยะสั้น พร้อมสร้างความประทับใจเพื่อเปลี่ยนขาจรเป็นขาประจำได้ในระยะยาวเช่นกัน
อ้างอิง : The 1 | The 1 Insights
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น