วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566

บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ เป็นชื่อเรียกบ้านพักของ ขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ นามเดิม เขียน มาลยานนท์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2424 ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นนายอำเภอเมืองกลาย ถือศักดินา 800 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2455 เนื่องจาก ไม่มีบุตรจึงยกที่ดิน และบ้านหลังนี้ให้แก่นายโกวิท ตรีสัตยพันธุ์ หลานชายของภรรยา ต่อมานายโกวิท ได้ใช้บ้านและที่ดินนี้เปิดเป็นโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ “โรงเรียนรัฐวุฒิวิทยา” ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนนครวิทยา”





หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2529 โรงเรียนได้ปิดตัวลง ต่อมาที่ดินแปลงนี้ตกเป็นของนายสำราญ ตรีสัตยพันธุ์ หลานชายของนายโกวิท และได้ให้คนเช่าทำเป็นสถานบริการขายน้ำมันรถยนต์อยู่หลายปี ต่อมาเมื่อหมดสัญญาการเช่า นางณัฏฐสุด ภรรยาของนายสำราญได้ปรึกษาหารือกับนายสุเมธ รุจิวณิชย์กุล สถาปนิกท้องถิ่นในการบูรณะและพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ โดยนายสุเมธได้ให้ความเห็นว่าควรรักษารูปแบบดั้งเดิม และเก็บรายละเอียดเดิมไว้ทุกประการไม่ว่าจะเป็นบานประตูหน้าต่าง พื้น ฝา ฝ้าเพดาน ที่เป็นไม้

ซึ่งเมื่อทำการบูรณะก็สามารถปรับปรุงใหม่ได้เกือบสมบูรณ์แบบ ยกเว้นกระเบื้องหลังคาดินเผาท้องถิ่นที่เป็นแผ่นบางได้ผุและแตกเป็นจำนวนมากยากแก่การจัดหาและดูแลซ่อมแซม จึงเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาจากราชบุรีที่มีความหนามากขึ้นและคงทนกว่า สำหรับพื้นที่ด้านหน้าอาคาร สถาปนิกได้ออกแบบเป็นลานโล่งตรงกลางเพื่อเป็นมุมมองให้เห็นตัวบ้านเด่นชัดจากถนนใหญ่ แต่เนื่องจากเมื่อครั้งที่เป็นสถานีบริการน้ำมันมีการถมดินสูงจนเกือบชิดตัวบ้าน ทำให้บ้านดูเหมือนจมลงเกือบครึ่งของใต้ถุนบ้าน สถาปนิกจึงออกแบบให้ขุดดินออกถอยร่นให้เป็นมุมเปิดมากขึ้น ส่วนอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ด้านหน้า เพื่อเป็นร้านขายสินค้าพื้นเมืองและร้านอาหารได้ออกแบบให้มีความสอดคล้องกลมกลืน และไม่ไปบังความเด่นของบ้าน



บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์
ลักษณะของ บ้านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์

บ้านท่านขุน เป็นอาคารชั้นเดียวยกใต้ถุนโล่ง ก่ออิฐ เป็นเสารับน้ำหนักและหล่อคานโค้ง ฉาบปูนปั้นบัวกันน้ำหยด มีบันไดขึ้นด้านหน้าเปิดมุมกว้าง ตามลักษณะบ้านโบราณทางใต้ทั่วไป ลักษณะเด่นของอาคาร คือ ด้านหน้าอาคารเป็นมุขคู่ หลังคาเป็นทรงปั้นหยา โดยเป็นส่วนห้องรับแขกหนึ่งมุข และส่วนห้องนั่งพักผ่อนอีกหนึ่งมุข ซึ่งจากมุมห้องพักผ่อนสามารถมองเห็นยอดทองคำของพระธาตุวัดพระมหาธาตุวรวิหารได้

นอกจากนี้ หน้าต่างของห้องพักผ่อนเป็นบานเปิดคู่ลูกฟักไม้ สูงจากพื้นไปจรดช่องลมไม้ด้านบน โดยมีรั้วไม้กันตกอยู่ตรงกลางระหว่างบาน และฝ้าเพดานเป็นไม้กระดานอยู่ระดับสูงจึงช่วยให้การระบายอากาศภายในบ้านเป็นไปได้อย่างดี

เจ้าของปัจจุบัน ได้เห็นคุณค่าของบ้านหลังนี้ จึงได้ลงทุนปรับปรุงอย่างระมัดระวัง ด้วยงบประมาณที่สูง รวมทั้งได้ปรึกษาหารือผู้รู้ด้านต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนเพื่อการเรียนรู้ที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร จึงนับเป็นแบบอย่างให้เอกชนรายอื่น ๆ ตระหนักถึงคุณค่าของที่อยู่อาศัยในอดีตที่ควรอนุรักษ์ไว้



ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่ตั้ง : ที่ตั้ง เลขที่ 512 ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปีที่สร้าง : ประมาณปี พ.ศ. 2455

อ้างอิง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

อ่านบทความเพิ่มเติม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ไทยพลัสนิวส์ 10 อาหารที่กินแล้วทำให้ แก่วัย

 ไทยพลัสนิวส์ 10 อาหารที่กินแล้วทำให้ แก่วัย ไทยพลัสนิวส์ 10 อาหารที่กินแล้วทำให้ แก่วัย เรื่องของอาหารการกิน ยังไงก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ต่อร...