สลากไทพลัส จะมาเสนอประวัติของวัดวังคํา
“เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน
มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี”
นี่คือคำขวัญจังหวัด“กาฬสินธุ์” เมืองที่หลายๆ คนมองเป็นเมืองผ่าน มองเป็นเมืองรอง เนื่องจากไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก อย่างไรก็ดีหากใครลองไปสัมผัสเมืองกาฬสินธุ์กันอย่างลึกซึ้งก็จะพบว่าเมืองสงบงามนี้มีมนต์เสน่ห์อันหลากหลายที่ชวนให้จดจำน่าประทับใจไม่น้อย
ด้วยของดีที่มีอยู่(เดิม)บวกกับสิ่งใหม่ๆ ทำให้ “นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย” ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จับมือกับท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆในจังหวัด จัดโครงการ“มองมุมใหม่ในกาฬสินธุ์”ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และเพื่อเปิดเมืองกาฬสินธุ์ให้คนภายนอกรับรู้ว่าเมืองนี้มีของดี มีสถานที่ท่องเที่ยว และมีสิ่งน่าสนใจที่มากหลาย รอคอยให้ผู้สนใจได้เดินทางไปเที่ยวชมสัมผัส ซึ่งหวังว่ากาฬสินธุ์จะเป็นหนึ่งในจังหวัดทางเลือกที่หลายๆ คนไม่มองผ่านเลยอย่างที่ผ่านๆ มา
สำหรับโครงการมองมุมใหม่ในกาฬสินธุ์นั้น ด้านหนึ่งเป็นการนำแหล่งท่องเที่ยวหลักๆและของดีอันโดดเด่นของกาฬสินธุ์มาพัฒนาศักยภาพ ควบคู่ไปกับการนำแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจหรือของดีที่มีอยู่แล้วในกาฬสินธุ์ให้คนรับรู้มากขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีการเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สิ่งน่าสนใจแห่งใหม่ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “วัดวังคำ” อันงดงามวิจิตร ที่ถูกยกให้เป็นอันซีนใหม่ในกาฬสินธุ์ ที่แม้แต่คนกาฬสินธุ์จำนวนมากก็ยังไม่รู้เลยว่ากาฬสินธุ์จะมีดีถึงขนาดนี้
วัดวังคำ ตั้งอยู่ที่ บ.นาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ มีข้อความตามเอกสารประวัติวัดวังคำ พอสังเขป ระบุไว้สรุปความว่า...วัดวังคำปัจจุบันมีเนื้อที่กว่า 8 ไร่ เริ่มก่อสร้าง(อย่างเป็นทางการ)ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 โดยคณะชาวบ้านนาวีและหมู่บ้านใกล้เคียง และได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนามีนามว่า “วัดวังคำ” สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตนิกาย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543
-ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเขตวิสุงคามสีมาแก่วัดวังคำ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2545
-สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ประดิษฐานที่หน้าบันอุโบสถ(สิม) วัดวังคำ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547
ปัจจุบันวัดวังคำมี “พระครูสังวรสมาธิวัตร” (จรัญ ขนุติปาโล) ผู้ก่อตั้งวัดเป็นเจ้าอาวาส...
นั่นเป็นข้อมูลเบื้องต้นคร่าวๆ ของวัดวังคำ ซึ่งปัจจุบันแม้วัดวังคำยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่กระนั้นวัดแห่งนี้ก็มีสิ่งน่าสนใจให้ชมกันเพียบ
เรียกได้ว่าในสิ่งก่อสร้างงานพุทธศิลป์ต่างๆ มีรายละเอียดความงามให้ทัศนากันในแทบทุกตารางฟุตเลยทีเดียว
โบสถ์วัดวังคำ...วัดเชียงทองจำลองแบบ
ในเย็นย่ำของวันที่มีสายลมหนาวพัดโชยพลิ้วผ่าน ขณะที่ผมกำลังเดินถ่ายรูปวัดวังคำท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆยามเย็นที่ทอแสงฉาบไล้ไปยังโบสถ์หลังงาม ผมก็ได้พบกับพระครูสังวรสมาธิวัตร ท่านเจ้าอาวาสวัดวังคำ ซึ่งถือว่าโชคดีมากๆ ของผม เพราะท่านได้เมตตาให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวัดแห่งนี้มาอย่างเต็มที่
ท่านเจ้าอาวาสบอกกับผมว่า แรกเริ่มที่สร้างวัดแห่งนี้ในปี พ.ศ. 2539 เริ่มจากการสร้างกุฏิเล็กๆ ศาลาเล็กๆ หลังคามุงหญ้าคาในพื้นที่เล็กๆ แต่ด้วยแรงจิตศรัทธาจากญาติโยมก็ทำให้ทางวัดได้ขยับขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญต่างๆ ของทางวัดเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะกับอาคารโบสถ์หลังงามนั้น ท่านเจ้าอาวาสให้ข้อมูลว่า ชุมชนบ้านนาวีถิ่นเกิดของท่านนั้นเป็นชุมชนชาวภูไทที่ไม่มีเอกลักษณ์ทางสิ่งก่อสร้างในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน
ด้วยความที่ชาวภูไทไม่ได้มีเฉพาะที่เมืองไทย หากแต่ยังมีที่ประเทศลาว บวกกับความที่ท่านชื่นชอบในศิลปะล้านช้าง ท่านจึงคิดที่จะนำศิลปะล้านช้างที่มีอิทธิพลอย่างมากในภาคอีสานมาผูกโยงกับเรื่องราววิถีชาวภูไทและความเชื่อโบราณของทางชุมชน
โดยท่านได้เลือก “วัดเชียงทอง” ที่เมืองมรดกโลก หลวงพระบาง แห่งสปป.ลาว มาเป็นต้นแบบ เพราะวัดเชียงทองได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุดในดินแดนลาว
หลังจากนั้นท่านเจ้าอาวาสก็เดินทางไปที่วัดเชียงทองเพื่อถอดแบบมาสร้างที่กาฬสินธุ์ ซึ่งในระหว่างนั้นท่านเจ้าอาวาสบอกกับผมว่า ท่านได้ไปไหว้ “พระม่าน” ที่หอพระม่าน(ข้างๆโบสถ์วัดเชียงทอง พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่ากลับเมืองไทยจะนำงานศิลปกรรมจากวัดเชียงทองไปสร้าง จากนั้นเมื่อกลับมาเมืองไทยก็ได้ดำเนินการก่อสร้างและงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีสมดังใจปรารถนา
สำหรับโบสถ์วัดวังคำนั้นเป็นการจำลองโบสถ์หรือสิมวัดเชียงทองมาสร้างแบบย่อส่วนลงมาเล็กน้อย ซึ่งหากดูเผินๆ จะมีรูปลักษณะโดยเฉพาะภายนอกที่คล้ายวัดเชียงทองมาก ไม่ว่าจะเป็นหลังคาโบสถ์อันอ่อนช้อยโค้งงามทรงปีกนกปกคลุมต่ำซ้อน 3 ชั้นลดหลั่นกันลงมา (หรือที่เรียกกันว่าสถาปัตยกรรมแบบม้าต่างไหม) ด้านหน้า 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น, มีลวดลายลงรักปิดทองประดับรูปเทพต่างๆ เป็นสีทองดูเน้นขับเด่นขึ้นมาบนแบ็กกราวนด์สีดำ, ค้ำยันหรือคันทวยทำลวดลายคล้ายที่วัดเชียงทอง ส่วนด้านหลังนั้นก็มีลวดลายประดับกระจกสี (หรือที่ชาวลาวเรียกว่าลาย “ดอกดวง”) อันสวยงาม
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในรายละเอียดก็จะพบว่าโบสถ์นี้ไม่ได้ก๊อปสิมวัดเชียงทองมาทั้งดุ้นหากแต่ในหลายจุดมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ราวบันไดทางเข้าด้านหน้าของวัดเชียงทองทำเป็นบันไดโล้นๆ - แต่ที่วัดวังคำทำเป็นตัวสิงห์สีทอง 2 ตัวประดับอยู่, ที่วัดเชียงทองมีฮางฮดหัวช้าง(สำหรับให้น้ำพระพุทธมนต์ไหลผ่านจาก)-แต่ที่วัดวังคำไม่มี, บนกลางสันหลังคาที่วัดเชียงทองมีเครื่องยอดที่ชาวลาวเรียกว่า “ช่อฟ้า” ที่วัดเชียงทองมี 17 ช่อต่างกับช่อฟ้าในบ้านเรา(ส่วนช่อฟ้าในบ้านเราชาวลาวเรียกว่าโหง่)-ส่วนที่วัดวังคำทำเป็นฉัตร 5 ชั้น 9 ยอด, หน้าวัดเชียงทองทำเป็นลวดลายแบบลาว-ส่วนที่วัดวังคำประดับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ขณะที่ภายในโบสถ์ที่วันนี้ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังไม่ได้ฝังลูกนิมิต (พระประธานองค์หน้ายังหุ้มพลาสติกอยู่เลย) แม้งานจิตรกรรมฝาผนัง ลายเสา งานประดับต่างๆ จะยังคงถอดแบบมาจากวัดเชียงทอง แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือพระประธานในวัดที่มี 2 องค์ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสบอกว่า นำมาจากความเชื่อโบราณ เป็นปางสะดุ้งมาร กับปางสะดุ้งมารกลับ
ส่วนที่หลังโบสถ์ช่วงกลางทำเป็นลวดลายประดับกระจกสีหรือลายดอกดวงเช่นเดียวกับที่วัดเชียงคำ แต่ต่างกันตรงรายละเอียดของลาย โดยที่วัดเชียงทองทำเป็นรูปต้นทอง (ต้นงิ้ว) ส่วนวัดวังคำทำเป็นต้นโพธิ์ธรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ภายในบริเวณโบสถ์วัดวังคำยังมีความแตกต่างคือมีพระระเบียงล้อมทั้ง 4 ด้าน มีรูปปั้นช้างประดับอยู่ด้างหลัง ม้าประดับอยู่ด้านข้างเป็นต้น มีการปลูกต้นลั่นทมหรือลีลาวดีหรือต้นจำปาของลาวประดับไว้เป็นจุดๆ
เรียกได้ว่าแม้นี่จะเป็นโบสถ์ที่จำลอง ถอดแบบมาจากวัดเชียงทองในหลวงพระบาง แต่ทางวัดเชียงคำก็นำมาประยุกต์ให้เป็นรูปแบบของตัวเองได้เป็นอย่างดี
วัดวังคำ...งามล้ำคู่กาฬสินธุ์
นอกจากโบสถ์อันงดงามวิจิตรแล้ว วัดวังคำยังมีงานพุทธศิลป์อิทธิพลศิลปะล้านช้างปรากฏให้เห็นในหลายจุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์พระธาตุสีทองอร่ามที่ได้รับอิทธิพลมาจากธาตุหลวง เมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว (พระธาตุองค์นี้ห้ามผู้หญิงขึ้นไปยังองค์พระธาตุ), ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ที่ภายในประดิษฐาน “หลวงปู่วังคำ” พระประธานศิลปะล้านช้างอันงดงาม หากสังเกตดีๆ จะเห็นพระพักตร์ของหลวงปู่วังคำอมยิ้มเล็กน้อย ดูขรึมขลังงดงามเปี่ยมศรัทธา
ภายในศาลาการเปรียญยังมีธรรมาสน์ที่เจ้าอาวาสออกแบบให้สร้างแบบดั้งเดิมตามที่ท่านเคยเห็นเมื่อครั้งเป็นเด็ก (บางข้อมูลบอกว่าสร้างตามแบบวัดศรีนวล อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี) นอกจากนี้ภายในวัดวังคำก็ยังมีสิ่งน่าสนใจให้ชื่นชม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะกันอีกหลายจุด ซึ่งพระครูสังวรฯ ท่านเจ้าอาวาสฝากบอกกับผมว่า สำหรับญาติโยมที่มาเที่ยววัด ต้องสำรวมกายวาจา เคารพกฎของวัด บางจุดห้ามผู้หญิงขึ้นก็อย่าขึ้น และอย่านุ่งน้อยห่มน้อยมาเข้าวัด เพราะมันผิดสถานที่ผิดกาลเทศะ
นี่ก็คือเรื่องราวบางส่วนของวัดวังคำอันงดงามวิจิตร ที่หากใครได้ไปเที่ยวกาฬสินธุ์แล้วไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
เพราะนี่นับเป็นสีสันความงามแห่งใหม่ในกาฬสินธุ์ที่ชวนทึ่งกระไรปานนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น