สลากไทพลัส จะมาเสนอประวัติของวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหารวัดนิเวศธรรมประวัติสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อพ.ศ.2419 เพื่อใช้เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ
เมื่อเดินทางเข้าสู่พื้นที่วัดก็เริ่มเห็นอาคารต่างๆ ที่สร้างในลักษณะตึกฝรั่งทาสีผนังในโทนสดใส แต่ก่อนอื่นขอเล่าให้ฟังถึงประวัติของวัดแห่งนี้กันก่อนว่า วัดนิเวศธรรมประวัติสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อพ.ศ.2419 เพื่อใช้เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ขณะที่เสด็จมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน โดยพระองค์ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้เจ้าพนักงานรับเหมาช่างชาวตะวันตก โดยได้นายโยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาเลียนมาออกแบบสร้างพระอุโบสถและอาคารหมู่กุฏิทั้งหลายเป็นแบบตะวันตก
ประวัติการก่อสร้างวัดแห่งนี้ปรากฏหลักฐานในจารึกประกาศพระราชทานที่วัดและเสนาสนะเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ ซึ่งมีความในพระราชดำริตอนหนึ่งในการถวายพระอาราม ดังนี้ “… ข้าพเจ้าคิดจะใคร่สร้างเป็นพระอารามน้อยๆ สำหรับที่บำเพ็ญกุศลใกล้พระราชวังในเวลาเมื่อได้มาขึ้นมาพักแรมอยู่ที่เกาะบางปะอินนี้ จึงได้คิดถมดินให้พ้นน้ำตามฤดูที่เคยประมาณว่าเป็นอย่างมากโดยปรกติ แล้วให้เจ้าพนักงานจ้างเหมาช่างชาวตะวันตก กะวางแผนที่ทำตามแบบอย่างกับประเทศตะวันตกทุกสิ่ง ซึ่งได้ให้คิดสร้างโดยแบบอย่างเป็นของชาวต่างประเทศดังนี้ ด้วยมีความประสงค์จะบูชาพระพุทธศาสนาด้วยของแปลกประหลาด แลเพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงชมเล่นเป็นของแปลก ยังไม่เคยมีในพระอารามอื่น แลเป็นของมั่นคงถาวรสมควรเป็นพระอารามหลวงในหัวเมือง ใช่จะนิยมยินดีเลื่อมใสในลัทธิศาสนาอื่น นอกจากพระพุทธศาสนานั้นหามิได้” วัดนิเวศธรรมประวัติจึงกลายเป็นวัดไทยหน้าตางามแปลกเหมือนโบสถ์ฝรั่งด้วยประการฉะนี้
ภายนอกพระอุโบสถทาด้วยสีเหลืองสวยงาม เป็นอาคารมีโดมหอคอยปลายแหลมตามอย่างวิหารในสถาปัตยกรรมตะวันตกศิลปะแบบโกธิค (Gothic) บริเวณยอดโดมมีหอนาฬิกาและระฆังชุด เหนือขึ้นไปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยด้านหน้าประตูทางเข้าอุโบสถมีมุขยื่นออกมา ลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น รอบผนังพระอุโบสถเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปโค้งปลายแหลม
ส่วนบริเวณท้ายพระอุโบสถเป็นหอระฆังยอดโดมลักษณะรูปกรวยแหลมสูงขึ้นไป 3 ชั้น แต่ละชั้นนั้นเจาะช่องหน้าต่างเป็นอาร์คแบบโค้งปลายแหลมไว้รอบหอระฆัง ชั้นแรกมีการเจาะช่องหน้าต่างทั้งสี่ด้าน และวางยอดปราสาทจำลองประดับไว้ที่มุมทั้งสี่ด้าน ถัดขึ้นไปชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เจาะช่องหน้าต่างและประดับด้วยกระจกสี 8 ด้าน บนสุดของยอดทำเป็นโดมปลายแหลม บนหอระฆังมีเจดีย์สำริดปิดทองภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตรงผนังเบื้องล่างยอดโดมประดับด้วยนาฬิกาที่บอกเวลาเป็นเลขโรมันอีกด้วย
ส่วนภายในพระอุโบสถก็งดงามอลังการด้วยเพดานสูง ช่องหน้าต่างโค้งและกระจกสีตามแบบตะวันตก ตรงกลางพระอุโบสถมีพระประธานนามว่า “พระพุทธนฤมลธรรโมภาส” ประดิษฐานอยู่บริเวณฐานชุกชีที่มีลักษณะเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนในโบสถ์ ส่วนผนังแต่ละด้านก็เป็นลวดลายพรรณพฤกษา บริเวณด้านล่างยังมีอัศวินในชุดเกราะเหล็กยืนจังก้าถือตะเกียงอยู่ทั้งสองด้าน สร้างบรรยากาศของความเป็นตะวันตกได้มากทีเดียว
ลองชมรายละเอียดของกระจกสีเหล่านี้ยังเห็นรายละเอียดโดดเด่นคือพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ประดับด้วยกระจกสีที่สั่งเข้ามาจากประเทศอิตาลี มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่งซึ่งหาชมจากที่ใดในเมืองไทยไม่ได้นอกจากที่นี่ที่เดียว
ใช้เวลานั่งเงียบๆ พิจารณาความงดงามของกระจกสีและลวดลายต่างๆ ที่ประดับอยู่บนผนังพระอุโบสถ ก่อนจะออกมาชมสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ด้านนอก อาทิ บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถจะมีหอประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ หรือพระพุทธรูปยืนปางขอฝน โดยซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปก็เป็นสไตล์โกธิคมียอดแหลมเช่นเดียวกัน และฝั่งตรงข้ามกับหอพระคันธารราษฎร์ เป็นหอประดิษฐานพระพุทธศิลาปางนาคปรก พระพุทธรูปสมัยลพบุรี ฝีมือช่างขอมอายุนับพันปี
เมื่อเดินชมอาคารต่างๆ ภายในบริเวณวัดก็พบว่ามีสไตล์การก่อสร้างแบบตะวันตกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “พระตำหนักสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงผนวชและจำพรรษาที่วัดนี้เมื่อ พ.ศ.2426 รวมไปถึงกุฏิสงฆ์ และหอพระไตรปิฎก เป็นต้น
วัดนิเวศธรรมประวัติจึงนับว่าเป็นวัดที่งามแปลกในสไตล์ฝรั่งแห่งเดียวในไทย ที่หากใครมีโอกาสได้มาเยือนแถบอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ไม่ควรพลาดที่จะมาเที่ยวชมด้วยประการทั้งปวง
วัดนิเวศธรรมประวัติ ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยที่จอดรถวัดนิเวศธรรมประวัติจะอยู่ติดกับที่จอดรถของพระราชวังบางปะอิน เมื่อจอดรถแล้วสามารถขึ้นกระเช้าไฟฟ้า ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังวัดได้
อ่านบทความเพิ่มเติม สลากไทพลัส
ประวัติของวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร โดย สลากไทพลัส กองสลากไทพลัส
ประวัติความเป็นมาของวัดพระธาตุศรีสองรัก โดย สลากไทพลัส กองสลากไทพลัส
ประวัติความเป็นมาของวัดทับกระดาน โดย สลากไทพลัส กองสลากไทพลัส
ประวัติความเป็นมาของพระมหาเจดีย์ชเวดากอง โดย สลากไทพลัส กองสลากไทพลัส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น