วัดหลวงพ่อโต หรือ วัดบางพลีใหญ่ใน กองสลากไท และ สลากไทพลัส ได้ทราบข้อมูลมาว่า หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย(สะดุ้งมาร) องค์พระเป็นทองสำริดทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ลืมพระเนตร ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดบางพลีใหญ่ใน ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการกล่าวขวัญว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบางพลีและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
วัดหลวงพ่อโต
ประวัติ วัดหลวงพ่อโต จาก กองสลากไท
ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อน มีพระพุทธรูป 3 องค์ ลอยลงมาจากทางเหนือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำและบางครั้งก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้ผู้คนเห็นจนเป็นที่โจษจันกันทั่วถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์
ต่อมาพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยวกเข้าไปในแม่น้ำท่าจีนจนได้ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ในเวลาไล่เลี่ยกันพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งก็ลอยวกเข้าไปทางปากแม่น้ำบางปะกง จนได้ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
ส่วนอีกองค์หนึ่ง(หลวงพ่อโต)ก็ได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง ประชาชนที่พบเห็นต่างก็โจษจันกันไปทั่ว พร้อมกับได้ร่วมกันพยายามอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่ก็ไม่สามารถอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นได้สำเร็จ
ผู้มีปัญญาดีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน เพราะแม้ว่าจะใช้ผู้คนจำนวนมากก็ยังไม่สามารถอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งได้สำเร็จ จึงควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยไปตามลำคลองสำโรง พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่าหากท่านประสงค์จะขึ้นที่ใดก็ขอให้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาหยุด ณ ที่นั้น
เมื่อประชาชนทั้งหลายเห็นพ้องกันดังนั้นแล้ว ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง ครั้นเมื่อแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงครามหรือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านมาก็เกิดหยุดนิ่ง แม้ว่าจะพยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลังแพนั้นก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน
ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลีจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาอัญเชิญองค์ท่านขึ้นจากน้ำ ซื่งก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เมื่อใช้คนเพียงไม่มากนักก็สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่านเป็นอย่างยิ่งและได้อาราธนาท่านขึ้นประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา
ถวายนามหลวงพ่อโต
การที่ท่านได้รับการถวายนามว่า หลวงพ่อโต นั้นคงเป็นเพราะองค์ของท่านใหญ่โต คือ ใหญ่โตกว่าองค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันทั้ง 2 องค์ ประชาชนจึงพากันถวายนามว่า หลวงพ่อโต และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบางพลีและใกล้เคียงในนาม หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน ตราบจนทุกวันนี้
ทั้งนี้ การลำดับว่าพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมาพร้อมกันตามตำนานที่สืบต่อกันมา ว่าองค์ไหนองค์พี่ องค์กลางและองค์น้องนั้นเข้าใจว่าคงจะนับเอาองค์ที่อาราธนาขึ้นจากน้ำได้ก่อนเป็นองค์พี่ ขึ้นจากน้ำองค์ที่ 2 เป็นองค์กลาง ขึ้นจากน้ำองค์ที่ 3 เป็นองค์น้องตามลำดับ คือ
หลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ 1
หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ 2
หลวงพ่อโต วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ อาราธนาขึ้นจากน้ำ เป็นองค์ที่ 3
ตำนาน 5 องค์ จะเพิ่มอีก 2 ลำดับที่ลอยจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลอ่าวไทยตอนใน (อ่าวกรุงเทพ) โดยพี่น้องชาวประมงจากอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีได้สาวอวนติดพระพุทธรูป จำนวน 2 องค์ แต่ตอนกลับเข้าฝั่งเกิดกลุ่มเมฆฝนพายุด้านฝั่งบ้านแหลม ชาวประมงกลุ่มนี้จึงได้หันหัวเรือเข้าไปหลบฝนในแม่น้ำแม่กลองแทน แต่ฝนก็ยังคงตกหนักตามต่อไป จนถึงหน้าวัดศรีจำปา เรื่อได้ล่มและพระพุทธรูปได้จมลงในแม่น้ำหน้าวัด จำนวน 1 องค์ ด้วยความที่แม่น้ำกว้างและลึก จึงนำพระพุทธรูปที่เหลือกลับเข้าไปทางแม่น้ำบางตะบูน (ลำนำสาขาแม่น้ำเพชรบุรี) โดยนำไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา ในตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ภายหลังประชาชนเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อทอง” บ้างก็เรียกว่า “หลวงพ่อเขาตะเครา” หลังจากนั้นแล้ว กลุ่มชาวประมงชุดดังกล่าวได้นำเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องจากอำเภอบ้านแหลม กลับไปยังที่เกิดเหตุเพื่องมหาพระพุทธรูปอีกองค์เพื่อนำมายังจังหวัดเพชรบุรี แต่ปรากฏว่าชาวแม่กลองที่ทราบข่าวเรื่องเรือชาวประมงอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีได้ชักลากอวนติดพระพุทธรูป 2 องค์แล้วเรื่อได้มาล่มอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดศรีจำปา ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จึงได้ชักชวนกันไปงมนำขึ้นมาประดิษฐาน ณ วัดศรีจำปา เมื่อชาวบ้านแหลมมาถึงก็ได้ทวงคืนพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวจากชาวแม่กลองคืน แต่ชาวแม่กลองก็อยากได้พระพุทธรูปดังกล่าวไว้ประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ อีกทั้งคนแม่กลองรุ่นเก่าบางคนก็อพยบมาจากอำเภอบ้านแหลมด้วย จึงได้เสนอข้อตกลงเปลี่ยนชื่อวัด จากชื่อ “วัดศรีจำปา” เป็น “วัดบ้านแหลม” ประชาชนจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ตราบถึงปัจจุบันแม้ชื่อวัดอย่างเป็นทางการจะใช้ชื่อว่า “วัดเพชรสมุทร” แล้วก็ตาม ก็ยังมีคำว่า “เพชร” ซึ่งหมายถึง “เมืองเพชร” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันของชาวแม่กลองและเพชรบุรี
อุโบสถหลังใหม่
หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน ได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเดิมเรื่อยมา จนเมื่อมีโครงการรื้อวิหารนั้นเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร จึงต้องอาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว จนกระทั่งสร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านกลับไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถเพื่อเป็นพระประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน
ภายในวัดหลวงพ่อโต
เล่ากันว่าเมื่อคราวสร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ ได้วัดช่องประตูพระอุโบสถกับองค์หลวงพ่อโต ปรากฏว่าช่องประตูใหญ่กว่าองค์พระประมาณ 5 นิ้ว ซึ่งสามารถนำองค์หลวงพ่อโตผ่านเข้าไปได้
แต่พอถึงคราวอาราธนาจริงกลับปรากฏว่าองค์หลวงพ่อใหญ่กว่าประตูมาก คณะกรรมการจำนวนหนึ่งเห็นว่าควรทุบช่องประตูทิ้ง แต่อีกจำนวนหนึ่งเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตจึงได้พร้อมใจกันอธิษฐานขอให้หลวงพ่อโตสามารถผ่านเข้าประตูได้เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบไป ซึ่งเมื่ออธิษฐานเสร็จก็กลับอาราธนาหลวงพ่อโตผ่านประตูได้โดยสะดวกโดยที่ไม่ต้องทุบช่องประตูแต่อย่างใด แถมยังมีช่องว่างระหว่างองค์หลวงพ่อกับประตูพระอุโบสถเสียอีก
ความศักดิ์สิทธิ์
หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน
หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน มีเรื่องเล่าเมื่อครั้งที่หลวงพ่อโตยังประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเก่าว่า บางวันที่เป็นวันพระขึ้น 15 ค่ำ กลางคืนผู้คนจะได้ยินเสียงพึมพำอยู่ในวิหารคล้ายเสียงสวดมนต์ ครั้นเมื่อเข้าไปดูก็ไม่เห็นมีใครอยู่ในนั้นเลยนอกจากหลวงพ่อโต บางคราวพระภิกษุสามเณรในวัดจะเห็นพระภิกษุชราห่มจีวรสีคร่ำคร่า ถือไม้เท้าเดินออกมายืนสงบนิ่งอยู่หน้าวิหาร ผู้ที่พบเห็นต่างก็เรียกกันมาดู เมื่อทุกคนเห็นพร้อมกันดีแล้ว ภิกษุชรารูปนั้นก็เดินหายเข้าไปในวิหารตรงองค์ของหลวงพ่อ เป็นดังนี้หลายครั้งหลายหน บางครั้งจะมีผู้เห็นเป็นชายชรารูปร่างสง่างาม มีรัศมีเปล่งปลั่ง นุ่งขาวห่มขาวเข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็หายไปตรงพระพักตร์ของท่าน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 หลวงพ่อได้กระทำให้เกิดปาฏิหาริย์ที่องค์ท่านซึ่งเป็นทองสัมฤทธิ์ เกิดนุ่มนิ่มไปหมดทั้งองค์ดังเนื้อมนุษย์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ก็เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้อีกครั้งหนึ่ง
ชาวบางพลีต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และบารมีขององค์หลวงพ่อโต ได้คุ้มครองชุมชนบางพลีให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย เพราะชุมชนอื่นที่อยู่โดยรอบ อาทิ ตลาดบางบ่อ ตลาดจระเข้ ตลาดคลองด่าน ล้วนแต่เคยประสบกับอัคคีภัยมาแล้วทั้งนั้น
แม้แต่กระทั่งรูปเหรียญหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน ชาวบ้านทั้งใกล้ไกลต่างพากันห้อยคอให้แก่บุตรหลานของตน เพราะกล่าวกันว่าเมื่อเด็กเผลอพลัดตกน้ำเด็กนั้นกลับลอยน้ำได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ ตลอดจนทั้งพระเครื่องรางที่ทำเป็นรูปขององค์หลวงพ่อก็มีเรื่องเล่าอภินิหารป้องกันภยันตรายได้ต่างๆ นานา
นอกจากนี้ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหลายต่างก็พากันมาบนบานกราบนมัสการองค์หลวงพ่อโต กล่าวกันว่าบางท่านที่ได้นำน้ำมนต์หลวงพ่อไปดื่มกินเพื่อความเป็นสิริมงคล ก็กลับปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นนั้นก็กลับหายวันหายคืนเป็นที่น่าอัศจรรย์
งานนมัสการหลวงพ่อโต
ทางวัดได้จัดให้มีงานสมโภชปีละ 3 ครั้ง คือ
งานปิดทองฝ่าพระพุทธบาทและนมัสการหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ ถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 3
งานนมัสการและปิดทองหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ ถึง วันแรม 2 ค่ำ เดือน 4
งานประเพณีรับบัวและนมัสการหลวงพ่อโต ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 มีการจัดขบวนเรือแห่แหนหลวงพ่อโต (จำลอง) ไปตามลำคลองสำโรง เพื่อรับดอกบัวที่ผู้คนถวายเป็นพุทธบูชา
นอกจากนี้ในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีงานทำบุญฉลองที่หลวงพ่อโตแสดงปาฏิหาริย์ให้องค์หลวงพ่อนิ่มเหมือนเนื้อ ของมนุษย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น