สลากไทพลัส จะมาเสนอประวัติวัดชลอและเรือเรือสุพรรณหงส์สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราว พ.ศ.2275 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์สีทองอร่ามที่ลอยลำอย่างสง่างามกลางลำน้ำเจ้าพระยา เป็นภาพที่คนไทยกำลังจะได้เห็นอีกครั้งในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
เมื่อเห็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์อันงดงามนี้แล้ว ทำให้นึกถึงไปถึง “โบสถ์เรือสุพรรณหงส์” ซึ่งตั้งอยู่ที่ “วัดชลอ" ในตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีความงามแปลกแตกต่างไปจากวัดอื่นๆ อย่างน่าชม
วัดชลอ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราว พ.ศ.2275 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตัววัดตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย หรือเดิมเรียกว่าคลองลัดบางกรวย ซึ่งขุดขึ้นใน พ.ศ. 2081 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา
มีตำนานเล่าถึงการสร้างวัดว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคผ่านคลองลัดบางกรวย ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณนี้น่าจะสร้างวัดขึ้นมาสักวัดหนึ่ง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน แต่เนื่องจากที่บริเวณนี้เป็นคุ้งน้ำเชี่ยว ในอดีตเคยมีเรือสำเภาล่มและมีคนจมน้ำตายเป็นอันมาก รวมถึงการก่อสร้างก็เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะอุปสรรคมากมาย แม้เมื่อสร้างเสร็จก็เกิดฟ้าผ่าลงกลางโบสถ์
ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้มีพระสุบินนิมิตไปว่ามีชายชราชาวจีนมากราบทูลขอให้พระองค์ทรงปลดปล่อยดวงวิญญาณของพวกตนที่ตายเพราะเรือล่ม โดยชายชาวจีนคนนั้นได้กล่าวว่าอยากให้พระองค์สร้างโบสถ์เป็นรูปเรือสำเภา ต่อมาเมื่อโบสถ์นี้สร้างเสร็จก็ไม่เกิดเหตุอาเพศใดๆ อีก ส่วนชื่อวัดพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ได้พระราชทานนามว่า “วัดชลอ"
ที่เล่ามานั้นก็เป็นตำนานการสร้างวัด แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วก็สอดคล้องกัน เพราะวัดชลอตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยตอนเหนือที่เชื่อมต่อกับคลองอ้อมนนท์และคลองบางกรวย (แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม) เป็นโค้งน้ำที่น้ำไหลเชี่ยวจึงมักมีอุบัติเหตุอยู่เสมอ ภายหลังจึงมีการสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นจุดสังเกตให้คนเรือได้ลดความเร็วและใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเมื่อเดินเรือมาถึงบริเวณนี้ ส่วนอุโบสถเก่าแก่ของวัดนั้นก็เป็นศิลปะสมัยอยุธยา ฐานอาคารโบสถ์แอ่นโค้งแบบที่เรียกว่า “ตกท้องสำเภา” ซึ่งเป็นงานที่นิยมสร้างในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
ปัจจุบันวัดชลอยังคงรักษาอุโบสถหลังเก่าไว้เป็นอย่างดี ตัวโบสถ์มีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ใกล้กับคลองบางกอกน้อย มีหลักฐานว่าตัวอุโบสถได้รับการบูรณะต่อมาภายหลังโดยดูจากเสาขนาดใหญ่ทางตอนหน้าของโบสถ์ที่เป็นลักษณะซึ่งพบเห็นในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเข้าไปด้านในจะพบพระพุทธรูปงดงามสามารถเข้าไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลได้
สำหรับ “อุโบสถเรือสุพรรณหงส์” ที่ลอยสง่างามอยู่ภายในวัดเห็นโดดเด่นแต่ไกลนั้นเป็นอุโบสถหลังใหม่ที่ริเริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2526 โดยดำริของพระครูนนทปัญญาวิมล (หลวงพ่อสุเทพ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชะลอ ผู้ซึ่งมีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคไซนัส อีกทั้งท่านยังเป็นผู้พัฒนาวัดชลอจากวัดเก่าทรุดโทรมให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน
พระครูนนทปัญญาวิมลได้มีนิมิตเห็นเรือหงส์ลอยมาอยู่หน้าอุโบสถหลังเก่าที่ท่านจำพรรษาอยู่ จึงเป็นมูลเหตุให้ท่านมีความคิดอยากจะสร้างเรือสุพรรณหงส์ขึ้น แต่เมื่อคิดถึงประโยชน์ใช้สอยแล้วหากสร้างแต่เรืออย่างเดียวอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ ท่านจึงคิดสร้างโบสถ์ไว้บนลำเรือสุพรรณหงส์ก็จะได้ใช้ประโยชน์ทางพุทธศาสนา ท่านจึงให้บรรดาลูกศิษย์ออกแบบก่อสร้างในปี 2525
การก่อสร้างเริ่มในราว พ.ศ.2526 และดำเนินงานต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนเมื่อช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2540 การก่อสร้างจึงหยุดชะงักไป จนบัดนี้ตัวโบสถ์สุพรรณหงส์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี แต่ก็คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 85 ได้เห็นความงดงามของเรือสุพรรณหงส์ที่โดดเด่นได้สัดส่วน ยังคงเหลือรายละเอียดเกี่ยวกับการตกแต่ง ติดกระจกสี ลงรักปิดทอง เป็นต้น
เราสามารถเดินขึ้นไปบนตัวเรือเพื่อชมสิ่งก่อสร้างด้านบน และสามารถเข้าไปยังพระอุโบสถกลางลำเรือเพื่อเข้าไปกราบหลวงพ่อดำ พระประธานในอุโบสถหลังใหม่ด้านในได้ หากไหว้พระแล้วใครมีความประสงค์จะร่วมทำบุญสมทบทุนการก่อสร้างโบสถ์สุพรรณหงส์ที่ดำเนินการก่อสร้างมากว่า 40 ปีให้แล้วเสร็จสมบูรณ์โดยเร็วก็สามารถทำบุญกันได้ตามศรัทธา
เรื่องน่าสนใจของวัดชลอยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หากเดินไปทางริมคลองบางกอกน้อยบริเวณสะพานข้ามคลองจะได้เห็น “ศาลเจ้าแม่บัวลอย" อันเป็นอีกหนึ่งตำนานเล่าขานของวัดชลอมานมนาน โดยมีเรื่องเล่ากันว่า มีผู้หญิงท้องแก่ชื่อแม่บัวลอยพายเรือขายขนมในคลองบางกอกน้อย แต่เกิดอุบัติเหตุเรือคว่ำเสียชีวิต ร่ำลือกันว่าวิญญาณของแม่บัวลอยเฮี้ยนมากจนไม่มีใครกล้าพายเรือกลางค่ำกลางคืน
จนต่อมาอดีตเจ้าอาวาสวัดชลอได้นำโครงกระดูกของแม่บัวลอยมาไว้ที่วัด และภายหลังมีการสร้างศาลให้คนได้บูชา เล่ากันว่าแม่บัวลอยให้หวยแม่นมากจนเป็นที่เลื่องลือ แม่นขนาดที่ว่าเจ้ามือหวยต้องส่งคนมาขโมยโครงกระดูกไปเสีย ภายหลังจากนั้นเรื่องราวของแม่บัวลอยจึงซาไป
เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่เล่าขานโด่งดังจนมีผู้นำไปแต่งเป็นเพลง "บางกอกน้อย" โดยครูเพลงชัยชนะ บุญนะโชติ เล่าเรื่องราวของแม่บัวลอยผ่านเนื้อเพลงได้อย่างไพเราะจับใจ ใครยังไม่เคยฟังต้องลองไปหามาฟังกันให้ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น