สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ซึ่งแต่เดิมมีการวางแผนกันว่า จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปรารภพระราชประสงค์นี้กับคณะรัฐบาล ในการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ขึ้นมา คณะกรรมการจึงมีความเห็น 3 แนวทาง คือ
สร้างเป็นรูปหรือวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระลึกและเป็นเกียรติศักดิ์โดยเฉพาะ มิได้หวังสาธารณะประโยชน์ ตัวอย่างเช่น พระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5
สร้างเป็นสถานที่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระลึกและเป็นเกียรติศักดิ์ แต่เป็นสถานที่สาธารณะประโยชน์ด้วย ตัวอย่างเช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือสาธารณะสถานอื่น ๆ
ตั้งเป็นเงินกองทุน สำหรับหาดอกผลเพื่อการกุศลหรือสาธารณะประโยชน์ ตัวอย่างเช่น เงินทุนพระไตรปิฎกสำหรับรัชกาลที่ 6 และทุนสภากาชาด
ในเบื้องต้นคณะกรรมการมีความเห็นไปในแนวทางที่ 1 คือ การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสนอให้ทำเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยประดิษฐานอยู่หน้าพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม และขยายบริเวณหน้าวัดซึ่งเป็นตลาดเสาชิงช้า โดยรื้อออกแล้วทำสวนและลานกว้างออกมาถึงริมถนนราชดำเนิน
สะพานพระพุทธยอดฟ้า
สะพานพระพุทธยอดฟ้า โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมกับฝั่งธนบุรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้เสนอโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมกับฝั่งธนบุรี โดยยกเหตุผลเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และได้ทรงมีความเห็นว่าจะช้าจะเร็วยังไงก็ต้องสร้าง แต่ถ้าไม่ถือโอกาสนี้สร้าง อาจต้องรอเวลาอีกนานเพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินมาก ดังนั้นการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำในโอกาสเฉลิมฉลองพระนคร จะเป็นการสมพระเกียรติยศ
เบื้องต้นในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้มีพระราชดำริลงมาว่า โครงการของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อยู่ในประเภทงดงาม แต่ไม่สู้จะเป็นสิ่งสาธารณะประโยชน์ ส่วนโครงการของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นพระเกียรติยศมาก เพราะเป็นการเชื่อมกรุงธนบุรีกับกรุงรัตนโกสินทร์เข้าด้วยกัน จึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หลังจากมีพระราชดำริ คณะกรรมการจึงได้เปิดประชุม ลงความเห็น 4 โครงการ คือ
สร้างเพียงแค่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่มุขหน้าพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม
สร้างพระบรมรูปที่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม แล้วขยายเขตทำลานหน้าพระบรมรูปออกไปจนถึงริมถนนราชดำเนิน
สร้างตึกสนามสถิตยุติธรรมเป็นฉากหลัง รับกับพระบรมรูปที่ข้างสนามหลวง ตามแบบแนวพระราชดำริในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเคยคิดจะสร้างในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี
สร้างพระบรมรูปและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมธนบุรีกับกรุงเทพฯ
อ้างอิง https://www.luehistory.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น