วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ประวัติความเป็นมาของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร


  สลากไทพลัส จะมาเสนอประวัติของวัดอรุณราชวรารามราช วรมหาวิหาร



ประวัติ

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี และได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลางพระราชวัง จึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชธาราม” ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้บูรณะเพิ่มเติมอีก  แล้วทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม” ดังที่เรียกกันปัจจุบัน


สถาปัตยกรรมที่สำคัญ

พระอุโบสถ  สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นอาคารยกพื้นสูงหลังคาลด  2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องสีเหลือง ขอบเป็นกระเบื้องสีเขียวใบไม้ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก แผงหน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นไม้แกะลายลงรักปิดทองและประดับกระจก รูปเทวดายืนถือพระขรรค์อยู่ในปราสาท มีสังข์และคนโทน้ำวางอยู่ในพานข้างละพาน ประดับลายกนกลงรักปิดทอง  พระอุโบสถมีมุขยื่นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีเสาระเบียงขนาดใหญ่รับเชิงชายทั้งด้านเหนือและด้านใต้ บันไดและเสาบันไดเป็นหินทราย ระหว่างเสารอบพระอุโบสถถึงหน้ามุขทั้งสองด้านมีกำแพงเตี้ยๆ ประดับด้วยหิน สลักเป็นรูปดอกไม้ใบไม้ ที่หุ้มกลองด้านหน้าระหว่างประตู มีบุษบกยอดปรางค์ประดิษฐานพระพุทธนฤมิตรเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่  4 แต่นำมาประดิษฐานในรัชกาลที่  5  ที่หุ้มกลองด้านหลังระหว่างประตูเป็นบุษบกยอดปรางค์มีพาน 2 ชั้น ลงรักปิดทองตั้งพุ่มเทียน  ฐานพระอุโบสถมีลักษณะโค้งตกท้องสำเภา  มีการประดับลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทอง ซุ้มประตูพระอุโบสถ 2 ประตูด้านหน้าเป็นซุ้มยอดปรางค์  แต่ซุ้มประตูด้านหลังทั้ง  2 ประตู เป็นซุ้มไม่มียอด เสาและผนังพระอุโบสถด้านนอกถือปูนประดับกระเบื้องจีนลายดอกไม้ร่วง  ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพพุทธประวัติ มารผจญ เวสสันดรชาดก  เป็นต้น พระประธานในพระอุโบสถมีพระนามว่า “พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายในพระพุทธอาสน์บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระอุโบสถไม่มีกำแพงแก้ว แต่มีพระระเบียงแทน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  มีทรวดทรงงดงามกว่าพระระเบียงที่อื่น  ที่ผนังระเบียงมีลายเขียนเป็นซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ ใบไม้ มีนกยูงแบบจีนอยู่ตรงกลาง เสาพระระเบียงเป็นเสาถือปูนย่อมุม บัวหัวเสาเป็นลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจก  ด้านในประตูทุกบานเป็นภาพสีรูปคนถือหางนกยูงยืนอยู่เหนือสัตว์หิมพานต์  ด้านนอกประตูเป็นลายรดน้ำ  ด้านในพระระเบียงโดยรอบมีตุ๊กตารูปทหารเรือทำจากหินแกรนิตสีเขียวตั้งเรียงเป็นแถวจำนวน 144 ตัว บริเวณมุมพระอุโบสถทั้งสี่มุม มีพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมทำด้วยหินอ่อน มีซุ้ม  8 ซุ้ม มียอดเป็นปล้อง ๆ เรียวขึ้นโดยลำดับคล้ายปล้องไฉน ภายในบรรจุตุ๊กตาหินแกรนิตแบบจีนอยู่ภายใน จำนวน 8 ตัว เรียกว่าโป๊ยเซียน

ปรางค์ทิศ  เป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ เหนือเป็นนภศูลปิดทอง  ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์ มีรูปทรงเหมือนกัน คือมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา

มณฑปหรือปราสาททิศ  ตั้งอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่  2 ในระยะระหว่างปรางค์ทิศ ตอนฐานของมณฑปมีช่องบรรจุรูปกินรีและกินนร  เหนือช่องมณฑปทิศเหนือและทิศใต้มีรูปกุมภัณฑ์แบก  เหนือช่องมณฑปทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีรูปคนธรรพ์แบก  มณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับกระจกเช่นเดียวกับพระปรางค์ ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ดังนี้ คือ มณฑปทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ มณฑปทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้  มณฑปทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา และมณฑปทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพาน

พระวิหาร  เป็นอาคารยกพื้นสูง หลังคาลดหลั่น  3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี  หน้าบันมีรูปเทวดาถือพระขรรค์นั่งบนแท่น ประดับด้วยลายกนกลงรักปิดทองประดับกระจก  มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผนังด้านนอกประดับกระเบื้องเคลือบสีลายก้านแย่งขบวนไทย  เป็นกระเบื้องที่รัชกาลที่  3 ทรงสั่งมาจากเมืองจีน พระประธานในพระวิหารคือพระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร  นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระอรุณและพระพุทธรูปปางมารวิชัยอีกด้วย



โบสถ์น้อย  เป็นโบสถ์เดิมของวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา  มีลักษณะเป็นอาคารทรงเตี้ย  มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  หน้าบันเป็นลายกนกปิดทองประดับกระจก ไม่มีกำแพงแก้ว มุขหลังประดิษฐานพระกัจจายน์หน้าตักกว้าง 2 ศอก เป็นพระลงรักปิดทอง บานประตูด้านนอกเป็นลายรดน้ำรูปทหาร  มีรูปดอกไม้ประดับด้านในเป็นภาพเขียนสีรูปเทวดาแบบทวารบาล หน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้ด้านในเป็นภาพสีรูปฉัตรเบญจาและดอกไม้ร่วงเหมือนกันทุกบาน  พระประธานเป็นปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง หน้าฐานชุกชีทำเป็นลับแลก่ออิฐถือปูน มีพระแท่นของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาทางวัดได้สร้างพระบรมรูปหล่อพร้อมฐานสถิตย์ดวงพระวิญญาณของพระองค์


วิหารน้อย  เป็นวิหารเดิมของวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางด้านหน้าขององค์พระปรางค์คู่กับโบสถ์น้อย  มีลักษณะเช่นเดียวกับโบสถ์ คือ เป็นอาคารทรงเตี้ย  มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  มุขด้านหน้าว่าง มุขหลังประดิษฐานพระมาลัยหน้าตักกว้าง 2 ศอก บานประตูด้านนอกเป็นลายรดน้ำรูปทหารและรูปดอกไม้ประกอบกัน ประดับด้านในเป็นภาพเขียนสีรูปเทพธิดายืนประนมมืออยู่บนเขาและมีภาพลายดอกไม้ร่วง หน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้ด้านในเป็นภาพสีรูปฉัตรเบญจาและดอกไม้ร่วง ตรงกลางประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์

หอไตร  มี  2 หลัง  หลังแรกตั้งอยู่ทางด้านหน้าของกุฏิคณะ 1 ใกล้กับสระน้ำและรั้วด้านตะวันตกของพระปรางค์ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา  เป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องถ้วยเป็นชิ้น ๆ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี กรอบหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ลงรักปิดทอง ส่วนหลังที่สองอยู่มุมทางด้านเหนือหน้าคณะ 7 มีช่อฟ้าใบระกาลงรักปิดทองประดับกระจำ บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้

หอระฆัง  มี  2 หลัง  หลังแรกตั้งอยู่ทางด้านเหนือหลังพระวิหารใกล้กำแพงที่กั้นเป็นเขตพุทธาวาสด้านตะวันตกกับศาลาราย สูง  3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบมีลายปูนปั้นประดับเครื่องถ้วยที่หน้าบันเป็นลายดอกไม้ปักอยู่ในพาน  แขวนระฆังธรรมดา  ส่วนอีกหลังหนึ่งสูง 3 เมตรเช่นกัน อยู่ทางใต้แขวนระฆังกังสดาลแผ่นหนาเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ฟุต พระเจดีย์ 4 องค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่  3 ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถด้านใต้กับมณฑปพระพุทธบาทจำลอง เรียงเป็นแถวตรงจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกห่างกันพอสมควร เป็นเจดีย์แบบเดียวกันและมีขนาดเท่ากัน  ก่ออิฐถือปูนย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยและกระจกสีต่างๆ เป็นลายดอกไม้และลายอื่น ๆ มีฐานทักษิณ 1 ชั้น มีบันไดขึ้นลงทางด้านเหนือ บริเวณพระเจดีย์ติดกับพระระเบียงอุโบสถปูด้วยกระเบื้อง

มณฑปพระพุทธบาทจำลอง  ตั้งอยู่ระหว่างพระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบสอง 4 องค์ กับพระวิหารใหญ่ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องถ้วยสีต่าง ๆ  มีฐานทักษิณ 2 ชั้น หลังคามณฑปทำใหม่สร้างด้วยซีเมนต์




ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน  มี 6 หลัง อยู่บริเวณเขื่อนหน้าวัด ตั้งตรงมุมเหนือสุดที่ปากคลองวัดแจ้งมี 1 หลัง ตรงกับซุ้มประตูยอดมงกุฎ 3 หลัง ตรงกับพระศรีมหาโพธิ์หน้าวัด  1 หลัง และตรงกับทางเข้าพระปรางค์อีก 1 หลัง ศาลาเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่  3 มีลักษณะเหมือนกัน คือ หลังคาเป็นรูปเก๋งจีน มียกพื้นสำหรับนั่งพักทำด้วยหินทรายสีเขียว โดยเฉพาะศาลา 3 หลังที่ตรงกับซุ้มประตูนั้น มีแท่นสีเขียววางอยู่ตรงกลางเข้าใจว่าเป็นที่สำหรับวางของ  และด้านหลังมีรูปกินรีแบบจีนทำด้วยหินทรายสีเขียวตั้งอยู่  2 ตัว

ภูเขาจำลอง  ตั้งอยู่หน้าวัดทางด้านเหนือ บริเวณหลังศาลารูปเก๋งจีน 3 หลัง เดิมเป็นภูเขาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่  1 อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมารัชกาลที่  3 โปรดให้นำมาไว้ที่นี่ ภูเขาจำลองมีรั้วล้อมไว้เป็นสัดส่วน  มีตุ๊กตาจีน 2 ตัว นั่งอยู่บนแท่นนอกรั้ว ประตูทางเข้าทำเป็นรูปทหารเรือยืนเฝ้าอยู่  2 คน

อนุสาวรีย์พระธรรมเจดีย์  อยู่ด้านใต้ของภูเขาจำลอง อนุสาวรีย์แห่งนี้มีกำแพงเตี้ย ๆ ล้อมรอบ  ภายในนอกจากจะมีโกศหินทรายสีเขียวแบบจีนบรรจุอัฐิของพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสของวัดในระหว่างปี พ.ศ. 2458-2467  ยังมีประตู เขาจำลองแบบเตี้ย ๆ  และปราสาทแบบจีนที่มีตุ๊กตาหินอยู่ภายใน มีภาษาจีนกำกับอ่านว่า ฮก ลก ซิ่ว

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ประวัติวัดอรุณราชวราราม.  พระนคร : กรม, 2511.

รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.

ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา.  สมุดภาพวัดอรุณราชวราราม. กรุงเทพฯ :  ต้นอ้อ, 2536

นันทวดี เจริญพร. การศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่จากภาพจิตรกรรมฝาหนังภายในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร. สารนิพนธ์ศิลปะศาสตร์บัณฑิต โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544.

อนัสพงษ์ ไกรเกรียงศรี.  การศึกษาสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ไทยพลัสนิวส์ 10 อาหารที่กินแล้วทำให้ แก่วัย

 ไทยพลัสนิวส์ 10 อาหารที่กินแล้วทำให้ แก่วัย ไทยพลัสนิวส์ 10 อาหารที่กินแล้วทำให้ แก่วัย เรื่องของอาหารการกิน ยังไงก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ต่อร...